ลักษณะงานเขียนของซาร์เจนต์ ของ จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์

“Arsène Vigeant”, ค.ศ. 1885, พิพิธภัณฑ์เมซ

ในขณะที่วงการศิลปะหันไปสนใจกับแนวเขียนของอิมเพรสชันนิสม์, โฟวิสม์ และ คิวบิสม์ งานเขียนของซาร์เจนต์เป็นงานเขียนในรูปของสัจนิยมที่อยู่บนพื้นฐานของงานของดิเอโก เบลัซเกซ, อันโตน ฟัน ไดก์ และ ทอมัส เกนส์เบรอ การเขียนตามแบบฉบับของปรมาจารย์ในรูปแบบของงานศิลปะร่วมสมัย ที่ดูเหมือนว่าไม่ต้องใช้ความพยายามเท่าใดนักทำให้ซาร์เจนต์ได้รับงานจ้างเขียน ภาพเหมือนมาโดยตลอด ที่ผลที่ออกมาเป็นภาพเขียนที่มีคุณค่าที่รวมทั้งภาพ “Arsène Vigeant”, ค.ศ. 1885 ที่พิพิธภัณฑ์เมซ; “มิสเตอร์และมิสซิสไอแซ็ค นิวตัน เฟล์พส์-สโตคส์”, ค.ศ. 1897, พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน และทำให้ได้ชื่อว่าเป็น “แวน ไดค์ของยุค”[78]

กระนั้นซาร์เจนต์ก็ได้รับการวิจารณ์จากเพื่อนจิตรกรด้วยกัน: คามิลล์ ปิซาร์โรเขียน “[ซาร์เจนต์]ไม่ใช่ผู้มีความกระตือรือร้น (enthusiast) แต่เป็นเพียงนักแสดงผู้คล่องแคล่ว”[79] และวอลเตอร์ ซิคเคิร์ทพิมพ์งานเสียดสีชื่อ “Sargentolatry”[68] ในบั้นปลายของชีวิตซาร์เจนต์ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นจิตรกรผิดยุค, เป็นสิ่งที่หลงเหลือจากสมัยปิดทอง (Gilded Age) และล้าหลังกับความก้าวหน้าของขบวนการทางศิลปะของยุโรปที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักประวัติศาสตร์ศิลป์เอลิซาเบธ พริททีจอห์นให้ความเห็นว่าชื่อเสียงที่ลดถอยลงของซาร์เจนต์อาจจะมีสาเหตุบางอย่างมาจากความเป็นอคติต่อชาวเซมิติคในสังคมที่เริ่มก่อตัวขึ้นซึ่งมีผลทำให้มีการต่อต้านสิ่งที่แสดง “ความมั่งคั่งของชาวยิว”[80] และถึงกับให้ความเห็นกันว่าความมีมนตร์ขลังของงานเขียนของซาร์เจนต์[81] เป็นสิ่งดึงดูดลูกค้าที่เป็นชาวยิว ที่ซาร์เจนต์เริ่มเขียนตั้งคริสต์ทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา

การเขียนภาพอันสื่อความยวนอารมณ์และความมีมนตร์ขลังจะเห็นได้ชัดที่สุดในภาพเหมือนของ “อัลมินา เวิร์ทไฮเมอร์ลูกสาวของแอชเชอร์ เวิร์ทไฮเมอร์” (ค.ศ. 1908) ที่อัลมินาแต่งตัวแบบเปอร์เซียโพกผ้าที่แต่งด้วยไข่มุก และส่าหรีอินเดีย ซึ่งถ้าเป็นการสื่อความหมายดังว่าก็เป็นที่พอใจของแอชเชอร์ เวิร์ทไฮเมอร์ผู้เป็นนักค้าขายศิลปะชาวยิว[52]

สิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่ชื่อเสียงของซาร์เจนต์มาจากนักวิพากษ์ศิลป์ผู้มีอิทธิพลชาวอังกฤษโรเจอร์ ฟรายของกลุ่มบลูมสบรีที่กล่าววิจารณ์การแสดงภาพย้อนหลังที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1926 ว่าเป็นงานที่ขาดคุณค่าของความงามทางศิลปะ “งดงามนั้นจริง แต่อย่าไขว้เขวความงดงามของการแสดงกับการเป็นศิลปิน”[82] ในคริสต์ทศวรรษ 1930 หลุยส์ มัมฟอร์ดเป็นผู้นำในบรรดากลุ่มนักวิจารณ์งานเขียนของซาร์เจนต์กล่าวว่า: “ซาร์เจนต์ในที่สุดก็เป็นเพียงนักเขียนภาพประกอบ…ผู้แสดงความสามารถในความมีฝีมืออย่างขันแข็ง, เขียนภาพที่เตะตาผู้ดู แต่ก็ไม่สามารถปิดบังความว่างเปล่าของเนื้อหา หรือความขาดความลึกซึ้งของวิธีการเขียนภาพ” อีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบกระเทือนชื่อเสียงของซาร์เจนต์คือการเป็นชาวอเมริกันที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศ ซึ่งดูเหมือนจะทำให้มีความเป็นอเมริกันน้อยลงในช่วงที่อเมริกามีความตื่นตัวในศิลปะที่ถือว่าเป็นศิลปะ “อเมริกันแท้” เช่นงานในกลุ่มของสตีกลิทซ์ และของตระกูลงานแอชคันที่กำลังเริ่มรุ่งเรืองขึ้น[83]

แม้ว่าจะถูกวิจารณ์อยู่เป็นช่วงระยะเวลานาน แต่ความเป็นที่นิยมของซาร์เจนต์ก็กลับสูงขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 ในคริสต์ทศวรรษ 1960 การฟื้นฟูศิลปะสมัยวิคตอเรียและการศึกษาที่เกี่ยวกับลักษณะการเขียนที่ตรงกับวิธีเขียนของซาร์เจนต์ก็ยิ่งเพิ่มความนิยมขึ้นอีก[84] ซาร์เจนต์กลายเป็นหัวเรื่องของการแสพงนิทรรศการศิลปะขนาดใหญ่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่รวมทั้งนิทรรศการศิลปะย้อนหลังที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกันวิทนีย์ในปี ค.ศ. 1986 และอีกครั้งในนิทรรศการเคลื่อนที่ในปี ค.ศ. 1999 ที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์, บอสตัน, หอศิลป์แห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี. และ หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน

ในปี ค.ศ. 1986 แอนดี วอร์ฮอลให้ความเห็นเกี่ยวกับซาร์เจนต์ว่า “ทำให้ทุกคนดูหรูหรา สูง เพรียว แต่ทุกคนก็ยังมีอารมณ์ และแต่ละคนก็ต่างกันไป” ในขณะเดียวกันนักวิพากษ์ศิลป์โรเบิร์ต ฮิวก์ก็สรรเสริญว่า “เป็นผู้บันทึกอำนาจของชายและความงามของสตรีอันไม่มีผู้ใดเทียมเท่าในยุคเช่นในยุคของเราที่ให้ความสำคัญอันท่วมท้นต่อสิ่งที่ว่านี้”[85]

แหล่งที่มา

WikiPedia: จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์ http://www.abbeville.com/bookpage.asp?isbn=0789203... http://www.eeweems.com/sargent/ http://www.tfaoi.com/aa/1aa/1aa418.htm http://contentdm.byu.edu/cdm4/item_viewer.php?CISO... http://www.artmuseums.harvard.edu/sargent/ http://www.aaa.si.edu/collectionsonline/sargjohn/ http://data.bls.gov/cgi-bin/cpicalc.pl http://www.sargentmurals.bpl.org http://www.sargentmurals.bpl.org/ http://collections.currier.org/Obj13$170